ยาฆ่าแมลง
อันตรายของการใช้ ยาฆ่าแมลง อย่างผิดวิธี ส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างไรบ้าง?
ยาฆ่าแมลง เป็นยากำจัดศัตรูพืชที่ใช้เพื่อฆ่าหรือทำลายศัตรูพืช ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้พืชผลต่าง ๆ ได้รับความเสียหาย เป็นสารเคมีชนิดอันตรายที่หากใช้ไม่ถูกวิธีก็จะทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้งานได้เช่นเดียว โดยส่งผลข้างเคียงตั้งแต่ระดับอ่อนไปจนถึงระดับรุนแรงที่ทำให้เสียชีวิตได้ เพื่อการใช้งานอย่างถูกวิธีและเพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน เรามีข้อควรระวังและการใช้งานอย่างถูกวิธีมาบอกกัน
ประเภทของ ยาฆ่าแมลง และผลข้างเคียงหากใช้งานผิดวิธี
· ออร์กาโนฟอสเฟต (Organophosphates) เป็นสารที่ละลายน้ำง่าย สลายตัวได้ง่าย และมีกลิ่นที่แรงมาก เป็นชนิดที่มีพิษสูง เข้าสู่ร่างกายด้วยการสูดดม โดยจะไปจับตัวและยับยั้งการทำงานกับเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรส (Cholinesterase) กลายเป็นสารตกค้างในร่างกายที่สลายตัวยากและส่งผลข้างเคียงให้เกิดอาการต่าง ๆ อาทิ คลื่นไส้ เวียนศีรษะ แน่นหน้าอก ตาพร่ามัว น้ำลายฟูมปาก หายใจลำบาก หัวใจเต้นผิดปกติ และทำให้หมดสติได้
· ออร์กาโนคลอรีนหรือออร์กาโนคลอไรด์ (Organochlorine insecticides) เป็นสารที่นำมาใช้ในยาฆ่าแมลงที่มีมานานแล้ว ไม่ละลายในน้ำและไม่สลายตัว สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ด้วยการหายใจหรือการรับประทาน โดยจะเข้าไปสะสมที่ไขมันในร่างกายและส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ส่งผลให้มีการทรงตัวที่ผิดปกติ ชักเกร็ง หายใจไม่เป็นปกติ ทรงตัวไม่อยู่ ลิ้นชา กระวนกระวาย เบื่ออาหาร เห็นภาพหลอน และทำให้ระบบหายใจล้มเหลวได้
· คาร์บาเมต (Carbamate) เป็นชนิดที่จะเข้าไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรสเช่นเดียวกับกลุ่มของออร์กาโนฟอสเฟต แต่ชนิดนี้จะออกฤทธิ์ในระยะสั้น เพราะสามารถสลายตัวได้เร็ว เข้าสู่ร่างกายผ่านการรับประทาน การดูดดม และการซึมเข้าสู่ผิวหนังบริเวณที่เป็นแผล ผลข้างเคียงคือ ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดม่านตา หายใจลำบากหรือหายใจติดขัด และทำให้ชักได้
· สารกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ (Synthetic pyrethroids) เป็นสารที่สกัดออกมาจากดอกเบญจมาศ ฟังดูแล้วอาจจะไม่ร้ายแรงแต่ก็ทำให้เป็นอัมพาตได้เลยทีเดียว เพราะเป็นสารที่ออกฤทธิ์เร็ว หากเผลอทานเข้าไปจะส่งผลต่อระบบประสาท ทำให้รู้สึกกระสับกระส่าย กล้ามเนื้อกระตุก มีอาการชัก และอันตรายถึงขั้นเป็นอัมพาตได้
การใช้ยาฆ่าแมลงอย่างถูกวิธีและปลอดภัยต่อสุขภาพ
· อ่านรายละเอียดก่อนใช้งาน ควรอ่านละเอียดให้แน่ใจก่อนว่ายาฆ่าแมลงแต่ละชนิดมีการใช้งานอย่างไร ใช้ในอัตราส่วนเท่าไหร่ เพื่อง่ายต่อการผสมยา รวมถึงข้อควรระวังต่าง ๆ ด้วย
· สวมชุดป้องกันให้มิดชิด เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมากที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้สารเคมีเข้าสู่ร่างกาย ควรสวมชุดป้องกันสารเคมีให้มิดชิดตั้งแต่ศีรษะถึงเท้า ชุดควรมีคุณสมบัติกันน้ำและสารเคมีได้ นอกจากนี้ยังควรสวมถุงมือยาง ถุงพลาสติกสวมขา รองเท้าบูท แว่นตาป้องกันสารเคมี และหน้ากากป้องกันสารเคมีหรือหน้ากากกันน้ำด้วย
· ทดสอบอุปกรณ์ก่อนใช้งาน ควรทดสอบถังฉีดยา สายฉีดยา และอุปกรณ์ต่าง ๆ ว่าใช้งานได้ปกติหรือไม่ โดยทดสอบกับน้ำประปาก่อน หากมีปัญหาหรือเกิดการอุดตันควรล้างออกด้วยน้ำสะอาดหรือหาอุปกรณ์มาซ่อมแซม ห้ามใช้ปากเป่า เพราะอาจมีสารเคมีตกค้างอยู่
· ผสมสารเคมีตามอัตราส่วนที่กำหนด เพื่อใช้ในปริมาณที่กำหนดและไม่เกินขนาด
· ผสมด้วยความระมัดระวัง ไม่คนสารเคมีแรงเกินไปเพราะทำให้กระเด็นได้ ไม่ใช้มือสัมผัสกับสารเคมีโดยตรง
· แยกภาชนะสำหรับใช้สารเคมีออกจากภาชนะอื่น เพื่อป้องกันการใช้ปนกัน ควรเก็บแยกและเขียนกำกับไว้
· ควรฉีดพ่นในวันที่ไม่มีลมและไม่มีฝนตก เพราะถ้าลมแรงจะสารเคมีจะพัดเข้าหาตัวได้ง่าย รวมถึงวันที่ฝนตกด้วยเพราะจะชะล้างสารเคมีออกจากพืชผล ทำให้ออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่
· ควรยืนฉีดพ่นอยู่ทางต้นลม เพื่อไม่ให้ลมพัดสารเคมีเข้าหาตัว
· ล้างอุปกรณ์ให้สะอาดก่อนเก็บเข้าที่ทุกครั้ง รวมถึงชุดอุปกรณ์ป้องกันที่ควรทำความสะอาดด้วย หากเป็นชนิดใช้ครั้งเดียวควรถอดแล้วนำทิ้งถังขยะแยกจากประเภทอื่น
· ไม่ทานอาหารหรือเครื่องดื่มขณะใช้สารเคมี เพราะจะทำให้สารเคมีเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย
· ควรอาบน้ำทันทีหลังใช้งานเสร็จ เพื่อชำระล้างสารเคมีและสิ่งตกค้างต่าง ๆ ออกจากร่างกาย
ความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญในการใช้ยากำจัดแมลง การดูแลตัวเองให้ดีอยู่เสมอและใช้งานอย่างถูกวิธีจะช่วยให้คุณปลอดภัยจากสารเคมีอันตรายต่าง ๆ ได้มากขึ้น
